ความเป็นมา

        ปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายตัวของเมืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการ ในการเดินทางและปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น มีการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเป็นคมนาคมขนส่งหลัก ในการเดินทางทำให้เกิดปัญหาการจราจร ปัญหามลภาวะ ตลอดจนปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนนซึ่งเกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยจากข้อมูล 3 ฐาน ระบบข้อมูลคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (POLIS) ระบบทะเบียนมรณบัตรและสาเหตุการตายของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข และระบบข้อมูลการเรียกสินไหมทดแทนของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด (EClaim) พบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 19,904 คนต่อปี อีกทั้งยังมีผู้บาดเจ็บและผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้บาดเจ็บและผู้พิการดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

         นโยบายของรัฐบาลได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการลดอุบัติเหตุดังกล่าว โดยการสนับสนุนการขนส่งทางรางที่มีความปลอดภัยให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้แผนย่อยโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และระบบโลจิสติกส์ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาด้านการขนส่งทางรางโดยเร่งพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟขนาด 1 เมตรและรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางรางด้วยการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก รถจักรและล้อเลื่อนที่สอดรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีระบบรถไฟในอนาคต เพื่อให้เป็นโครงข่ายการเดินทางและขนส่งหลักของประเทศที่สอดรับกับความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้า เช่นเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์เป้าหมายที่ 2 ได้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่ง เพื่อเพิ่มสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางราง ต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดภายในประเทศ จากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 4 ในปี 2564ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2560-2564 ได้มีการกำหนดให้มีมาตรฐานและระบบกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของการขนส่ง โดยมีเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตทางถนน และลดอุบัติเหตุร้ายแรงทางรางและได้แนวทางการคัดเลือกโครงการที่จะได้รับการสนับสนุน ได้แก่ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย การปรับปรุงจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เป็นต้น

         การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางเพื่อให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางไปใช้ระบบขนส่งทางรางตามนโยบายของรัฐบาล จะสามารถลดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาพรวม อย่างไรก็ตามจะส่งผลให้มีจำนวนรถไฟที่ผ่านจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาในภาพรวมทั้งระบบโดยคำนึงถึงจุดตัดทางถนน และทางรถไฟซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุปัจจุบันมีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 2,684 แห่ง แบ่งเป็นจุดตัดต่างระดับ 406 แห่ง จุดเสมอระดับ 2,278 แห่ง โดยจุดตัดเสมอระดับที่ได้รับอนุญาตมีจำนวน 1,657 แห่ง และจุดตัดเสมอระดับประเภททางลักผ่านจำนวน 621 แห่ง ทั้งนี้ จากสถิติในช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2558-2562 พบว่า มีอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เกิดขึ้น 383 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 138 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 371 ราย โดยในกรณีเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ส่งผลให้รถจักรหรือรถดีเซลรางได้รับความเสียหายและตกราง ส่งผลกระทบต่อการเดินรถเนื่องจากต้องปิดซ่อมแซมทางรถไฟที่ได้รับความเสียหาย และเก็บกู้รถที่ตกราง ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร และสินค้าในภาพรวมของประเทศ ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และงบประมาณภาครัฐ และความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟจะเพิ่มสูงขึ้น หากมีการพัฒนาระบบ โครงข่ายระบบรางมากขึ้นตามที่กล่าวข้างต้น

         ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. … ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจของกรมการขนส่งทางรางในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และการเชื่อมต่อกับการขนส่งการเดินทางในระบบอื่น ๆ ตลอดจนการจัดทำร่างแผนแม่บทด้านการพัฒนาการขนส่งทางราง ทั้งในเขตเมืองและปริมณฑลที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างเมือง และในระหว่างภูมิภาค ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม จึงเห็นควรให้มีโครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุ จุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เพื่อกำหนดมาตรฐานจุดตัดทางถนนและทางรถไฟของประเทศพร้อมทั้งเสนอแนวทางการปรับปรุงจุดตัดทางถนนและทางรถไฟให้มีกายภาพที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็นระยะดำเนินการเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ตลอดจนศึกษาแนวทางการประกาศหรือปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงคมนาคม และยุทธศาสตร์ กระทรวงคมนาคม